ที่โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก จัดการฝึกภาคปฏิบัติในสถานการณ์เสมือนจริงที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากใน เหตุการณ์ระเบิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการฝึกการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุใน สถานการณ์ความรุนแรง โดยคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการปะทะ เช่น จังหวัดสุรินทร์ ให้มาเรียนรู้วิธีการในการปฏิบัติงานช่วยชีวิตฉุกเฉิน ในรูปแบบทางยุทธวิธี หรือ Tactical Combat Casualty Care (TCCC)
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากการสู้รบตามแนวชายแดน การก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบ รวมถึงความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการจลาจลในประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ออกช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์นี้ อาจได้รับอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดเกิดเหตุ
ดังนั้น บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ณ ที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นการประเมินสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ การคัดแยก การปฐมพยาบาล และส่งต่อหรือส่งกลับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ประสานความร่วมมือกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก จัดโครงการการฝึกการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรง ขึ้น
“การนำทีมบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เสี่ยง มาเรียนรู้เทคนิคการช่วยชีวิตในรูปแบบทางทหารนั้น ก็เพื่อต้องการให้ทีม มีความรู้และทักษะในเรื่องจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเหล่านี้ในที่เกิดเหตุ สถานการณ์ที่รุนแรง ได้แก่ สถานการณ์ที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธสงคราม เหตุลอบวางระเบิด และจลาจล ทั้งยังมีแนวทางการปฏิบัติการ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับทหาร และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์และถ่ายทอดให้กับหน่วยกู้ชีพอื่นๆในพื้นที่ ได้” รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าว
สำหรับการฝึกในครั้งนี้เป็นการฝึกในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีต่างๆ เช่น หลักการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในพื้นที่การรบ การจัดการผู้บาดเจ็บจำนวนมากในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรง กลไกการบาดเจ็บจากกระสุนปืนและระเบิด และการรักษาวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ
แหล่งข่าวจาก posttoday…